วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

การฟังที่ดี

การฟังที่ดี
ปัญหาความขัดแย้ง เป็นเรื่องธรรมดาในการอยู่ร่วมกันหรือคบค่าสมาคมกัน เพราะสังคมประกอบด้วยบุคคลหลาย ๆ รูปแบบ มาจากครอบครัวที่ต่างกัน มีพื้นฐานการเลี้ยงดูวัฒนธรรม ประเพณีการศึกษา การใช้ชีวิตตลอดจนนิสัยใจคอที่แตกต่างกัน ดังนั้น ปัญหาหรือความขัดแย้งต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นอยู่ได้ตลอดเวลา เราก็อาจจะเป็นคนหนึ่งในหลายคน ที่ต้องตกเป็นผู้รับฟังการระบายปัญหาหรือการเล่าถึงความขัดแย้งกับคนอื่น ๆ จากผู้ร่วมงานจากคนใกล้ชิด จากเพื่อนสนิทหรือผู้มารับบริการอยู่บ่อย ๆ บางครั้งเราอาจจะใช้ความเห็นส่วนตัว ดุลยพินิจที่เข้าข้างตัวเอง ตอบโต้ปัญหาหรือความคัดแย้งเหล่านั้น จนถึงขนาดก่อศัตรู หรือเพิ่มความหมาดหมาง เครียดแค้นให้ลุกลามมากขึ้นก็อาจเป็นได้ ดังนั้นการที่จะเป็นผู้รับฟังปัญหาที่ดีมีประสิทธิภาพได้นั้น ก็ต้องมีการเรียนรู้วิธีการรับฟังที่เหมาะสมคือ
1. จะรับฟังปัญหาอย่างไรไม่ให้ตัวเราเครียด หดหู่ใจ ไม่สบายใจ
- ต้องอยู่ในอารมณ์ที่ผ่อนคลาย ไม่มีความวิตกกังวลใจพร้อมที่จะรับฟังปัญหาผู้อื่น
- ขณะรับฟังปัญหา ต้องรับฟังอย่างสงบ ไม่สร้างอารมณ์ร่วมไปกับผู้เล่า ต้องฟังอย่างเข้าใจ และรู้ถึงความรู้สึกและอารมณ์ของเขา แต่อย่าให้มีอารมณ์ทุกข์โศก โกรธแค้น ร่วมกับผู้เล่า หรือรับเอาความรู้สึกเข้ามาไว้กับตัวเองรับฟังอย่างมีสติมั่นคง ก็จะทำให้มองปัญหาได้ชัดแจ้งกว่า และสามารถชี้ให้เห็นถึงเหตุผล และแนวทางในการแก้ไขได้ดีกว่า
- ไม่ควรรับฟังปัญหานั้น นานเกินไป จะทำให้เราเกิดความเครียดได้ง่าย ควรหาวิธีละมุนละม่อม เพื่อให้ยุติการเล่าเมื่อใช้ระยะเวลานานเกินไป
2. จะรับฟังปัญหาอย่างไรไม่ให้เกิดศัตรู หรือเพิ่มความบาดหมางเคียดแค้น
- ต้องรับฟังอย่างเป็นกลาง รู้จักยับยั้งชั่งใจ คล้อยตามหรือส่งเสริมผู้เล่า และไม่กล่าวทับถมบุคคลที่สาม โดยระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีใครสามารถถ่ายทอดคำพูดของผู้อื่นไว้ทุกคำพูด โดยไม่ผิดเพี้ยน ไม่มีใครตีความหมายหรือแปลเจตนารมย์ของผู้พูดได้อย่างถูกต้องโดยไม่ผิดเลย ทุกคนย่อมเข้าข้างตัวเองเสมอ บางครั้งมักต่อเติมเสริมแต่งพูดรุนแรง เกินความจริง เพราะอคติหรือเกิดอารมณ์ ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ผู้เล่าเกิดอคติต่อคู่กรณีมากขึ้น ไม่ทำให้เราเองเกิดความโกรธแค้นกับผู้ที่ถูกว่ากล่าว ซึ่งอาจเป็นปัญหาสามเส้า หรือเกิดให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก ก่อศัตรูขึ้นมาได้จึงควรจะรับฟังปัญหาอย่างเป็นกลาง ด้วยการ
1. เป็นผู้ฟังที่ดี เพื่ออีกฝ่ายได้ระบาย และปลดปล่อยอารมณ์คับแค้นออกมา
2. แสดงท่าทีและใช้คำพูดปลอบโยน ให้อารมณ์งบลงสัมผัสอย่างอ่อนโยนด้วยความเข้าใจ จะช่วยให้จิตใจของผู้เล่าดีขึ้นบ้าง เช่น “ ใจเย็นๆ ” “ เดี๋ยวค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ จากันก่อน ”
3. ใช้คำพูดในทางบวกเพื่อลดอคติ เช่น “ เขาคงไม่เจตนาทำแบบนั้น ” “ เขาพูดล้อเล่นหรือเปล่า ”
4. ชี้แนวทางแก้ปัญหาด้วยความจริง เช่น การพูดปรับความเข้าใจกัน “ ลืมมันเสียแล้วเริ่มต้นใหม่ ”
ถ้าปฏิบัติได้ดังกล่าวมานี้ ท่านก็น่าจะเป็นผู้ที่สามารถรับฟังปัญหาของผู้อื่น และชี้แนะแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแก่เขาเหล่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น