วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

การอ่านบทร้อยกรอง


การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง
การอ่านออกเสียงร้อยกรอง เป็นการอ่านที่มุ่งให้เกิดความเพลิดเพลินซาบซึ้งในรสของคำประพันธ์ ซึ่งจะต้องอ่านอย่างมีจังหวะ ลีลา และท่วงทำนองตามลักษณะคำประพันธ์เเต่ละชนิด
การอ่านบทร้อยกรอง อ่านได้ ๒ แบบ ดังนี้
๑. อ่านออกเสียงธรรมดา เป็นการอ่านออกเสียงพูด ตามปกติเหมือนกับอ่านร้อยแก้ว แต่มีจังหวะวรรคตอน
๒. อ่านเป็นทำนองเสนาะ เป็นการอ่านมีสำเนียงสูง ต่ำ หนัก เบา ยาว สั้นเป็นทำนองเหมือนเสียงดนตรี มีการเอื้อนเสียง เน้นสัมผัส ตามจังหวะ ลีลาและท่วงทำนองตามลักษณะบังคับของบทประพันธ์ให้ชัดเจนเเละเหมาะสม
หลักเกณฑ์ในการอ่านออกเสียงร้อยกรอง
๑. ศึกษาลักษณะบังคับของคำประพันธ์ เช่น การเเบ่งจังหวะจำนวนคำสัมผัสเสียง วรรณยุกต์ เสียงหนักเบา เป็นต้น
๒. อ่านให้ถูกต้องตามลักษณะบังคับของคำประพันธ์
๓. อ่านออกเสียง ร ล คำควบกล้ำให้ชัดเจน
๔. อ่านออกเสียงดังให้ผู้ฟังได้ยินทั่วถึง ไม่ดังหรือค่อยจนเกินไป
๕. คำที่รับสัมผัสกันต้องอ่านเน้นเสียงให้ชัดเจน ถ้าเป็นสัมผัสนอกต้องทอดเสียงให้มีจังหวะยาวกว่าธรรมดา
๖. มีศิลปะในการใช้เสียง เอื้อนเสียง และทอดจังหวะให้ช้าจนจบบท
ข้อควรคำนึงในการอ่านบทร้อยกรอง
การอ่านบทร้อยกรอง หรือทำนองเสนาะ ให้ไพเราะและประทับใจผู้ฟังมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
๑. ก่อนอ่านทำนองเสนาะควรรักษาสุขภาพให้ดี มีความพร้อมทั้งกายและใจ จะช่วยให้มั่นใจมากขึ้น
๒. ตั้งสติให้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ตื่นเต้น ตกใจ หรือประหม่า ควรมีสมาธิก่อนอ่านเเละขณะกำลังอ่าน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด
๓. ก่อนอ่านควรตรวจดูบทอ่านอย่างคร่าวๆ และรวดเร็วเพื่อพิจารณาคำยาก หรือการผัวรรณยุกต์ และอื่นๆ
๔. พิจารณาบทที่จะอ่าน เพื่อตัดสินใจ เลือกใส่อารมณ์ในบทอ่านให้เหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อความ
๕. หมั่นศึกษาและฝึกฝนการอ่านทำนองเสนาะจากผู้รู้เกี่ยวกับกลวิธีต่างๆอยู่เสมอ จึงจะทำให้สามารถอ่านทำนองเสนาะได้อย่างไพเราะ
คุณค่าของการอ่านทำนองเสนาะ
๑. ผู้ฟังเห็นความงามของบทร้อยกรองที่อ่าน
๒. ผู้ฟังได้รับความไพเราะและเกิดความซาบซึ้ง
๓. เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน
๔. จดจำบทร้อยกรองได้รวดเร็วเเม่นยำ
๕. ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นคนอ่อนโยน
๖. ช่วยสืบทอดวัฒนธรรมในการอ่านทำนองเสนาะไว้เป็นมรดกของชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น