วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

คำสมาส


คำสมาส
คำสมาส การสร้างคำสมาสในภาษาไทยได้แบบอย่างมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต โดยนำคำบาลี-สันสกฤต ตั้งแต่สองคำมาต่อกันหรือรวมกัน

ลักษณะของคำสมาสเป็นดังนี้
๑. เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตเท่านั้น คำที่มาจากภาษาอื่นๆ นำมาประสมกันไม่นับเป็นคำสมาส ตัวอย่างคำสมาส
บาลี+บาลี เช่นอัคคีภัย วาตภัย โจรภัย อริยสัจ ขัตติยมานะ อัจฉริยบุคคล
สันสกฤต+สันสกฤต เช่น แพทยศาสตร์ วีรบุรุษ วีรสตรี สังคมวิทยา ศิลปกรรม
บาลี+สันสกฤต, สันสกฤต+บาลี เช่น หัตถศึกษา นาฎศิลป์ สัจธรรม สามัญศึกษา

๒. คำที่รวมกันแล้วไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำแต่อย่างใด เช่น
วัฒน+ธรรม = วัฒนธรรม
สาร+คดี = สารคดี
พิพิธ+ภัณฑ์ = พิพิธภัณฑ์
กาฬ+ปักษ์ = กาฬปักษ์
ทิพย+เนตร = ทิพยเนตร
โลก+บาล = โลกบาล
เสรี+ภาพ = เสรีภาพ
สังฆ+นายก = สังฆนายก

๓. คำสมาสเมื่อออกเสียงต้องต่อเนื่องกัน เช่น
ภูมิศาสตร์ อ่านว่า พู-มิ-สาด
เกียรติประวัติ อ่านว่า เกียด-ติ-ประ-หวัด
เศรษฐการ อ่านว่า เสด-ถะ-กาน
รัฐมนตรี อ่านว่า รัด-ถะ-มน-ตรี
เกตุมาลา อ่านว่า เก-ตุ-มา-ลา

๔. คำที่นำมาสมาสกันแล้ว ความหมายหลักอยู่ที่คำหลัง ส่วนความรองจะอยู่ข้างหน้า เช่น
ยุทธ (รบ) + ภูมิ (แผ่นดิน สนาม) = ยุทธภูมิ (สนามรบ)
หัตถ (มือ) + กรรม (การงาน) = หัตถกรรม (งานฝีมือ)
คุรุ (ครู) + ศาสตร์ (วิชา) = คุรุศาสตร์ (วิชาครู)
สุนทร (งาม ไพเราะ) + พจน์ (คำกล่าว) = สุนทรพจน์ (คำกล่าวที่ไพเราะ)

หลักการสังเกต
๑. คำสมาสต้องเป็นคำบาลี สันสกฤตเท่านั้น
๒. คำสมาสมีลักษณะคล้ายการนำคำสองคำมาวางเรียงต่อกัน เวลาอ่านจะมีเสียงสระต่อเนื่องกัน
๓. ไม่มีการประวิสรรชนีย์ (ะ) หรือเครื่องหมายทัณฑฆาต ( ์ )
๔. การเรียงคำ คำหลักจะอยู่ข้างหลัง ดังนั้นการแปลจึงแปลความหมายจากหลังมาหน้า
๕. คำ "พระ" ประกอบหน้าคำบาลี สันสกฤต จัดเป็นคำสมาส
๖. คำที่ลงท้ายด้วยคำว่า ศาสตร์ กรรม ภาพ ภัย ศึกษา มักเป็นคำสมาส 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น